- กดสไลด์ไปทางขวาเพื่อดูรูป
รู้หรือไม่ ?
6 ข้อควรรู้ เรื่อง “ฟัน” ของลูกน้อย ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้
1. เริ่มหาหมอฟันครั้งแรก ตั้งแต่ 6 เดือน
คุณรู้หรือไม่ ? ว่าต้องพาลูกน้อยมาพบทันตแพทย์ครั้งแรก เพื่อตรวจฟันเมื่อไหร่ ? คำตอบคือ “เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น” ซึ่งก็คือเมื่ออายุ 6 เดือน ที่ฟันหน้าล่างน้ำนมขึ้น โดยทันตแพทย์จะสอนวิธีการทำความสะอาดฟันที่ถูกต้อง ขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ตรวจสุขภาพช่องปาก รวมถึงการนัดตรวจสุขภาพช่องปาก ทุกๆ 6 เดือน
2. ฟันน้ำนมสำคัญเท่ากับฟันแท้ !
เพียงเพราะชุดฟันน้ำนม เป็นฟันที่อยู่ชั่วคราวก็หลุด ไม่ได้หมายความว่าฟันน้ำนมไม่สำคัญ “ฟันน้ำนมแต่ละซี่ ต้องหลุดในช่วงอายุที่เหมาะสมของมัน” เพราะฟันน้ำนมมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การกันพื้นที่ไว้สำหรับฟันแท้, ใช้บดเคี้ยวอาหาร ซึ่งส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร, ส่งเสริมพัฒนาการพูดของเด็กน้อย พ่อแม่ ควรพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์เพื่อดูแลรักษาฟันน้ำนมให้อยู่นานที่สุด ตามอายุขัยที่เหมาะสมของฟันแต่ละซี่
3. ฟันน้ำนมหลุดเร็วหรือช้าเกินไป อนาคตต้องจัดฟัน
เพราะ “ฟันน้ำนมแต่ละซี่ ต้องหลุดในช่วงอายุที่เหมาะสมของมัน” เมื่อถึงเวลาที่ฟันแท้ขึ้น ฟันแท้จะดันให้รากฟันน้ำนมโยกหลุดไปเองตามธรรมชาติ ถ้าฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาจากฟันผุ กระดูกบริเวณนั้นจะแข็ง ฟันข้างเคียงล้มเข้ามา ทำให้ฟันแท้ขึ้นช้า หรือซ้อนเก ถ้าฟันน้ำนมหลุดช้าเกินไป ฟันแท้จะไม่มีที่ขึ้น และจะขึ้นแทรกซ้อนเก หรือขึ้นผิดที่ มีผลให้การสบฟันผิดปกติ ต้องเสียเงิน จัดฟันเมื่อโตเป็นวัยรุ่น ดังนั้น การป้องกันเนิ่นๆ ให้ฟันเรียงตัวกันตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
4. ลูกปวดฟัน ทางแก้ไม่ใช่แค่ถอนฟันทิ้ง !
ถ้าฟันผุทะลุโพรงประสาท จน ลูกน้อยร้องปวดฟัน ทางแก้ไข ไม่ใช่จบลงที่การถอนฟันอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือ “ถึงเวลาที่เหมาะสม ของฟันน้ำนมซี่นั้น ที่ต้องหลุดแล้วหรือยัง ? ” เพราะฟันน้ำนมต้องทำหน้าที่ของมันจนถึงเวลาที่เหมาะสม ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงจะสามารถถอนได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลา ต้องทำการเก็บฟันซี่นั้นไว้ให้นานที่สุด จนถึงเวลาที่สมควร และปล่อยให้หลุดไปตามธรรมชาติ ไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาทางด้านระบบบดเคี้ยวและการสบฟันต่อไปในอนาคต
5. ฟันน้ำนมสามารถรักษารากฟันหรือครอบฟันได้
ฟันผุทะลุโพรงประสาท ที่มีอาการปวด แต่ยังไม่ถึงเวลาหลุดตามธรรมชาติ จะรักษาอย่างไร ? คำตอบคือ การรักษาโพรงประสาทฟัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคและเนื้อเยื่อที่อักเสบ ซึ่งไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนฟันผู้ใหญ่ สามารถทำให้เสร็จได้ในครั้งเดียว ถ้าเนื้อฟันเหลือเยอะ ก็สามารถอุดได้ แต่ถ้าเนื้อฟันเหลือน้อย ทันตแพทย์จะพิจารณาบูรณะด้วยการทำครอบฟัน ลูกน้อยของคุณจะหายปวดฟัน และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องถอนฟัน สามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ รอให้หลุดเองเมื่อถึงเวลาอันสมควรตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบดเคี้ยวและการสบฟันในอนาคต
6. เด็กเล็กก็จัดฟันได้
ความผิดปกติของการสบฟันบางประเภท ต้องการการแก้ไขตั้งแต่ในช่วงชุดฟันน้ำนม หรือ ชุดฟันผสม เช่น ฟันล่างครอบฟันบน, การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด จนไม่มีพื้นที่ให้ฟันแท้ขึ้น หรือนิสัยผิดปกติบางอย่าง เช่น ดูดนิ้ว โดยทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน อาจพิจารณารักษาด้วยเครื่องมือแบบถอดได้ หรือติดแน่นบางส่วน เพื่อรักษาหรือบรรเทาความผิดปกติไม่ให้เป็นมากขึ้น ในเคสที่มีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมกับการสบฟัน ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน อาจพิจารณารักษา โดยการกระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรให้เป็นปกติ ด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น Head gear, Face mask ทำให้โครงสร้างขากรรไกรเป็นปกติมากขึ้น และลดโอกาสที่ต้องผ่าตัดขากรรไกรในอนาคตเมื่อโตขึ้น
Leave a Reply