การรักษา “ฟันผุทะลุโพรงประสาท”

ฟันผุใหญ่ถึงโพรงประสาท ควร ‘ ถอนฟัน ‘ หรือ ‘ รักษารากฟัน ‘ ?

ฟันของคนเรานั้น ภายในจะเป็นโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ฟันมีชีวิตและความรู้สึก ประกอบไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทที่มาหล่อเลี้ยงฟัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิด ฟันผุ ฟันแตก ทะลุเข้าไปข้างในโพรงประสาทฟัน และเกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันเพียงอย่างเดียว

การรักษาสามารถทำได้ 3 วิธี 
ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับงบประมาณและรายละเอียดของฟันแต่ละคน ได้แก่

1. ถอนฟัน และใส่ฟันปลอม

การถอนฟันนั้น จะหายปวดฟันทันที แต่ฟันทุกซี่ที่ถอน (ยกเว้นฟันคุด) เราต้องทำการใส่ฟันปลอมทดแทน ไม่ว่าจะเป็นฟันหน้าหรือฟันหลัง ไม่เช่นนั้น ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าหาช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวเข้าหาช่องว่าง มีปัญหาด้านการบดเคี้ยว และอาจส่งผลระยะยาวถึงปัญหาข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อใบหน้า นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความสวยงาม ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจต้องเสียเงินเพื่อจัดฟันที่ล้ม เพื่อเตรียมช่องว่างสำหรับใส่ฟันปลอม โดยฟันปลอมแบ่งออกใหญ่ๆ เป็นแบบถอดได้ และแบบติดแน่น สำหรับฟันปลอมแบบถอดได้ ราคาจะถูกกว่า เริ่มต้นที่ 3,000 แต่ จะรู้สึกรำคาญและต้องใช้เวลาปรับตัวในการเคี้ยวและพูด สำหรับฟันปลอมแบบติดแน่น คือฟันปลอมที่ถอดออกไม่ได้ ได้แก่ รากฟันเทียม หรือ สะพานฟัน ซึ่งราคาจะสูงกว่าการรักษารากฟัน เพื่อเก็บฟันเสียอีก เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ การรักษารากฟันจะใช้งบประมาณที่ต่ำกว่า การถอนฟันร่วมกับการทำฟันปลอมแบบติดแน่น

2. รักษารากฟัน ปักเดือย และทำครอบฟัน

การรักษารากฟัน คล้ายกับการอุดฟัน แต่เป็นการอุดวัสดุอุดคลองรากลงไปในรากฟัน โดยทันตแพทย์จะทำการกำจัดเนื้อเยื่อข้างในรากฟันที่อักเสบ ใส่ยาฆ่าเชื้อ และอุดคลองรากฟัน ฟันซี่นั้น จะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป เราจึงสามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้น เอาไว้ได้โดยที่ไม่ต้องถอนฟัน ซึ่งฟันที่รักษารากฟัน มักจะมีเนื้อฟันที่เหลือน้อย เนื่องจากผุใหญ่ ทำให้มีโอกาสแตกได้ถ้าไปกัดของแข็ง ดังนั้นทันตแพทย์จึงแนะนำให้ทำการ ปักเดือยและทำครอบฟัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มอายุการใช้งานของฟันที่รักษาราก ซึ่งการปักเดือย คือการปักวัสดุลงไปในคลองรากฟันบางส่วน คล้ายๆกับการตอกเสาเข็ม เวลาสร้างบ้าน เป็นแกนหลัก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ก่อนจะทำการครอบฟันทับลงไปบนแกนฟันอีกที

3. ถอนฟัน และจัดฟัน เพื่อปิดช่องว่าง

กรณีนี้ เหมาะกับเคสที่มีความผิดปกติของการสบฟันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีฟันซ้อนเก หรือฟันยื่น มีความจำเป็นต้องถอนฟันร่วมด้วยเพื่อแก้ไขความผิดปกติของการสบฟัน และสามารถเคลื่อนฟันเพื่อปิดช่องว่างได้ ซึ่งในบางเคสอาจต้องมีการปักหมุด (Miniscrew) ร่วมด้วย หรือในบางเคสอาจไม่สามารถปิดช่องทั้งหมด ซึ่งเคสลักษณะนี้ ต้องทำการใส่ฟันปลอมหลังจัดฟันอยู่ดี ต้องทำการปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันเป็นรายๆไป ข้อดี คือได้ทำการแก้ไขการสบฟันอื่นๆได้ด้วย ส่วนข้อเสียคือเรื่องค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการรักษาที่นานเป็นปี

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*