บทความ > ทันตกรรมประดิษฐ์

ความรู้เกี่ยวกับ "ครอบฟัน"

ครอบฟัน

“ครอบฟัน” (Dental crown) เป็นการบูรณะฟันอย่างหนึ่ง โดยการกรอแต่งฟันให้มีรูปร่างเล็กลง เรียกว่าแกนฟัน (Core) จากนั้นจึงทำการพิมพ์ปาก เพื่อนำแบบจำลองฟันไปผลิตชิ้นงาน ส่วนครอบฟันขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงกับซี่ฟันนั้นๆ และยึดเข้าไปกับแกนฟันด้วยซีเมนต์สำหรับยึดครอบฟัน (Cement)

วัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟัน มีหลายประเภทแตกต่างกันไป ได้แก่

  1. โลหะทั้งชิ้น (Full metal)
              เป็นครอบฟันที่มีความบางมากที่สุด เนื่องจากผลิตจากวัสดุโลหะ ซึ่งมีความแข็งแรงสูงสุด จึงเหมาะในฟันหลังที่เตี้ย ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถกรอฟันได้มาก แต่มีข้อเสียคือไม่สวยงามเนื่องจากเห็นเป็นสีโลหะ โดยสีและคุณสมบัติจะแตกต่างกันไป ตามเปอร์เซนต์ของทองที่ผสมเข้าไป โดยยิ่งมีเปอร์เซนต์ของทองมากเท่าไหร่ จะมีสีเหลืองทองและคุณสมบัติที่ดีมากขึ้นเท่านั้น เช่นความแนบกับพื้นผิวฟัน โดยหลักๆ จะแบ่งประเภทของโลหะ ตาม เปอร์เซนต์ของทองที่เป็นส่วนผสม ได้ 4 ชนิด ได้แก่ 
        (1) โลหะธรรมดา (Regular alloy) :  ไม่มีทองเป็นส่วนผสม
        (2) พาลาเดียม (Palladium) : มีทองผสมประมาณ 2%
        (3) โลหะคุณภาพดีปานกลาง (Semi-precious) : มีทองผสมประมาณ 50%
        (4) โลหะคุณภาพสูง (High-precious) : มีทองผสมประมาณ 85%
  2. เซรามิกทั้งชิ้น (All ceramic)
              เป็นครอบฟันที่มีความสวยงามที่สุด เนื่องจากผลิตจากวัสดุเซรามิก ซึ่งมีความใส สวยงามเหมือนแก้ว จึงเหมาะกับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามมากๆ แต่มีข้อเสียคือมีความเปราะ แตกง่าย จึงต้องมีความหนาอย่างน้อย 2 มิลลิเมตร เพื่อให้แข็งแรงเพียงพอ ทำให้ต้องมีการกรอฟันมากกว่าแบบโลหะทั้งชิ้น
  3. เซรามิกรองพื้นด้วยโลหะ (PFM : Porcelain fused to metal)
              เป็นครอบฟันที่ผสมกันระหว่าง โลหะและเซรามิก เนื่องจากต้องการคุณสมบัติที่โดดเด่นจาก 2 วัสดุ โดยจะมีส่วนประกอบที่เป็นโลหะรองพื้น เพื่อเสริมความแข็งแรง ซึ่งสามารถเลือกเป็นโลหะชนิดใดก็ได้ใน 4 ชนิด (แบ่งตามเปอร์เซนต์ของทองที่เป็นส่วนผสม) และมีส่วนที่เป็นเซรามิกภายนอก เพื่อให้มีความสวยงามเหมือนสีฟัน อย่างไรก็ตาม พบว่าครอบฟันชนิดนี้ จะมีสีทึบกว่าแบบเซรามิกทั้งชิ้น เนื่องจากมีโลหะเคลือบอยู่ภายใน จึงมีความสวยงามและเป็นธรรมชาติน้อยกว่า และอาจพบสีของโลหะสะท้อนออกมาบริเวณขอบเหงือกด้วย

กรณีใด ที่จำเป็นต้องทำครอบฟัน ?

  • ฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันในปริมาณมาก ได้แก่ ฟันผุ, ฟันแตก, ฟันสึก, ฟันหัก และไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันให้แข็งแรงได้เพียงพอ
  • ฟันร้าว เนื่องจากต้องการความแข็งแรงของครอบฟันในการคลุมฟันทั้งหมด
  • ฟันที่มีความผิดปกติของผิวฟันหรือเนื้อฟันทั้งซี่ ไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันหรือ Veneer ได้
  • ฟันที่รักษารากฟันแล้วส่วนใหญ่ เนื้อฟันจะเหลือน้อย ทำให้ฟันไม่แข็งแรง อาจแตกได้ในอนาคต ดังนั้นส่วนมากหลังรักษารากฟันแล้ว จะต้องทำการบูรณะด้วยการ ปักเดือยและทำครอบฟันเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

รายละเอียดขั้นตอนในการทำครอบฟัน

  1. ทำการรักษา 2 ครั้ง
  2. ฉีดยาชาเฉพาะตำแหน่ง ในกรณีที่ฟันยังมีชีวิต

  3. ครั้งแรก ทันตแพทย์จะทำการกรอแต่งฟันที่จะทำครอบฟันให้ซี่เล็กลง และอาจทำการแยกเหงือกด้วยด้ายแยกเหงือก

  4. ทำการพิมพ์ปาก, เลือกสีฟัน, ใส่ครอบฟันชั่วคราว และส่งแลปเพื่อทำชิ้นงาน

  5. หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จึงนัดมาเพื่อยึดครอบฟัน จะมีการเช็คการสบฟัน

  6. นัดเช็คครอบฟัน 1 สัปดาห์

ราคาครอบฟัน

การทำครอบฟันสามารถผ่อนชำระได้ 2 งวด 

  • ครอบฟันชั่วคราว เริ่มต้น ราคา 2,000 บาท
  • ครอบฟันโลหะทั้งชิ้น (Full metal) / เซรามิกรองพื้นด้วยโลหะ (PFM)
    – โลหะธรรมดา (Regular alloy) ราคา 10,000-11,000 บาท
    – พาลาเดียม (Palladium) ราคา 12,000-14,000 บาท
    – โลหะคุณภาพดีปานกลาง (Semi-precious) ราคา 15,000-17,000 บาท
    – โลหะคุณภาพสูง (High-precious) ราคา 18,000-20,000 บาท
  • ครอบฟันเซรามิกทั้งชิ้น (All caramic) ราคา 14,000-16,000 บาท

 

คลิปตัวอย่างการทำครอบฟัน