บทความ > ทันตกรรมสำหรับเด็ก

ความรู้เกี่ยวกับ "ทันตกรรมสำหรับเด็ก"

 “ทันตกรรมสำหรับเด็ก” คืออะไร ?

          ทันตกรรมสำหรับเด็กเป็น สาขาทางทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับเด็กเล็ก เพื่อดูแลฟันน้ำนมของลูกน้อย ตั้งแต่ เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นจนฟันแท้ขึ้นครบหมด โดยทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 เดือน จนถึง 13 ปี

“6 ข้อควรรู้ในทางทันตกรรมสำหรับเด็ก”

1. เริ่มหาหมอฟันครั้งแรก ตั้งแต่ 6 เดือน 

          คุณรู้หรือไม่ ? ว่าต้องพาลูกน้อยมาพบทันตแพทย์ครั้งแรก เพื่อตรวจฟันเมื่อไหร่ คำตอบคือ “เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น” ซึ่งก็คือเมื่ออายุ 6 เดือน ที่ฟันหน้าล่างน้ำนมขึ้น โดยทันตแพทย์จะสอนวิธีการทำความสะอาดฟันที่ถูกต้อง ขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ตรวจสุขภาพช่องปาก รวมถึงการนัดตรวจสุขภาพช่องปาก ทุกๆ 6 เดือน

2.  ฟันน้ำนมสำคัญเท่ากับฟันแท้

          เพียงเพราะชุดฟันน้ำนม เป็นฟันที่อยู่ชั่วคราวก็หลุด ไม่ได้หมายความว่าฟันน้ำนมไม่สำคัญ “ฟันน้ำนมแต่ละซี่ ต้องหลุดในช่วงอายุที่เหมาะสมของมัน” เพราะฟันน้ำนมมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การกันพื้นที่ไว้สำหรับฟันแท้, ใช้บดเคี้ยวอาหาร ซึ่งส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร, ส่งเสริมพัฒนาการพูดของเด็กน้อย พ่อแม่ ควรพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์เพื่อดูแลรักษาฟันน้ำนมให้อยู่นานที่สุด ตามอายุขัยที่เหมาะสมของฟันแต่ละซี่

3. ฟันน้ำนมหลุดเร็วหรือช้าเกินไป อนาคตต้องจัดฟัน

          เพราะ “ฟันน้ำนมแต่ละซี่ ต้องหลุดในช่วงอายุที่เหมาะสมของมัน” เมื่อถึงเวลาที่ฟันแท้ขึ้น ฟันแท้จะดันให้รากฟันน้ำนมโยกหลุดไปเองตามธรรมชาติ ถ้าฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาจากฟันผุ กระดูกบริเวณนั้นจะแข็ง ฟันข้างเคียงล้มเข้ามา ทำให้ฟันแท้ขึ้นช้า หรือซ้อนเก ถ้าฟันน้ำนมหลุดช้าเกินไป ฟันแท้จะไม่มีที่ขึ้น และจะขึ้นแทรกซ้อนเก หรือขึ้นผิดที่ มีผลให้การสบฟันผิดปกติ ต้องเสียเงิน จัดฟันเมื่อโตเป็นวัยรุ่น ดังนั้น การป้องกันเนิ่นๆ ให้ฟันเรียงตัวกันตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

4. ลูกปวดฟัน ทางแก้ไม่ใช่แค่ถอนฟันทิ้ง

          ถ้าฟันผุทะลุโพรงประสาท จน ลูกน้อยร้องปวดฟัน ทางแก้ไข ไม่ใช่จบลงที่การถอนฟันอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือ “ถึงเวลาที่เหมาะสม ของฟันน้ำนมซี่นั้น ที่ต้องหลุดแล้วหรือยัง? ” เพราะฟันน้ำนมต้องทำหน้าที่ของมันจนถึงเวลาที่เหมาะสม ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงจะสามารถถอนได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลา ต้องทำการเก็บฟันซี่นั้นไว้ให้นานที่สุด จนถึงเวลาที่สมควร และปล่อยให้หลุดไปตามธรรมชาติ ไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาทางด้านระบบบดเคี้ยวและการสบฟันต่อไปในอนาคต

5. ฟันน้ำนมสามารถรักษารากฟันหรือครอบฟันได้

          ฟันผุทะลุโพรงประสาท ที่มีอาการปวด แต่ยังไม่ถึงเวลาหลุดตามธรรมชาติ จะรักษาอย่างไร? คำตอบคือ การรักษาโพรงประสาทฟันและรักษารากฟันน้ำนม เพื่อกำจัดเชื้อโรคและเนื้อเยื่อที่อักเสบ ซึ่งไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนฟันผู้ใหญ่ สามารถทำให้เสร็จได้ในครั้งเดียว ถ้าเนื้อฟันเหลือเยอะ ก็สามารถอุดได้ แต่ถ้าเนื้อฟันเหลือน้อย ทันตแพทย์จะพิจารณาบูรณะด้วยการทำครอบฟัน ลูกน้อยของคุณจะหายปวดฟัน และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องถอนฟัน สามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ รอให้หลุดเองเมื่อถึงเวลาอันสมควรตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบดเคี้ยวและการสบฟันในอนาคต

6. เด็กเล็กก็จัดฟันได้

          ความผิดปกติของการสบฟันบางประเภท ต้องการการแก้ไขตั้งแต่ในช่วงชุดฟันน้ำนม หรือ ชุดฟันผสม เช่น ฟันล่างครอบฟันบน, การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด จนไม่มีพื้นที่ให้ฟันแท้ขึ้น หรือนิสัยผิดปกติบางอย่าง เช่น ดูดนิ้ว โดยทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน อาจพิจารณารักษาด้วยเครื่องมือแบบถอดได้ หรือติดแน่นบางส่วน เพื่อรักษาหรือบรรเทาความผิดปกติไม่ให้เป็นมากขึ้น ในเคสที่มีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมกับการสบฟัน ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน อาจพิจารณารักษา โดยการกระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรให้เป็นปกติ ด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น Head gear, Face mask ทำให้โครงสร้างขากรรไกรเป็นปกติมากขึ้น และลดโอกาสที่ต้องผ่าตัดขากรรไกรในอนาคตเมื่อโตขึ้น

ราคาในการรักษาทันตกรรมสำหรับเด็ก

  • ขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์ ราคา 600 – 700 บาท
  • เคลือบหลุมร่องฟัน ราคา ซี่ละ 500 บาท
  • อุดฟัน ราคา เริ่มต้น 700 บาท
  • ถอนฟันน้ำนม ราคา เริ่มต้น 500 บาท
  • รักษารากฟันน้ำนม ราคา 3,500–4,000 บาท
  • ครอบฟันน้ำนม ราคา 3,000–3,500 บาท

คลิปตัวอย่างการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็ก