บทความ > ทันตกรรมประดิษฐ์

ความรู้เกี่ยวกับ "การปักเดือยและครอบฟันหลังรักษารากฟัน"

ครอบฟัน

ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วโดยทั่วไปจะมีเนื้อฟันที่เหลือน้อย ทำให้ฟันไม่แข็งแรง และอาจแตกหักได้ในอนาคตจากการใช้งาน ดังนั้นหลังจากทำการรักษารากฟันเสร็จแล้วจึงต้องทำการบูรณะต่อด้วยการ “ปักเดือย” (Post) ร่วมกับ การทำ “ครอบฟัน” (Crown) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟันซี่นั้น

“เดือยฟัน” คือวัสดุที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ ใช้ปักลงไปในรากฟันหลังจากอุดคลองรากฟันแล้ว โดยจะทำการเจาะวัสดุอุดคลองรากฟันลงไปประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวรากฟัน หลังจากนั้นจึงทำการยึดเดือยฟันด้วยซีเมนต์ให้มีความยาวโผล่ขึ้นมาจากคลองรากฟันพอประมาณเพื่อใช้เป็นตัวยึดแกนฟันสำหรับทำครอบฟันอีกที

“ครอบฟัน” เป็นการบูรณะฟัน โดยการกรอแต่งเนื้อฟันร่วมกับวัสดุที่ก่อเข้าไปในโพรงประสาทฟันหลังการรักษารากฟัน เรียกว่า แกนฟัน (Core) ซึ่งภายในจะมีเดือยฟันที่ปักลงไปในรากฟันยึดอยู่เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงด้วย โดยจะกรอให้มีรูปร่างที่เล็กลง จากนั้นจึงทำการพิมพ์ปาก เพื่อนำแบบจำลองฟันไปผลิตชิ้นงาน ส่วนครอบฟันขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงกับซี่ฟันนั้นๆ และยึดเข้าไปกับแกนฟันด้วยซีเมนต์สำหรับยึดครอบฟัน (Cement)

วัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟัน มีหลายประเภทแตกต่างกันไป ได้แก่

  1. โลหะทั้งชิ้น (Full metal)
              เป็นครอบฟันที่มีความบางมากที่สุด เนื่องจากผลิตจากวัสดุโลหะ ซึ่งมีความแข็งแรงสูงสุด จึงเหมาะในฟันหลังที่เตี้ย ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถกรอฟันได้มาก แต่มีข้อเสียคือไม่สวยงามเนื่องจากเห็นเป็นสีโลหะ โดยสีและคุณสมบัติจะแตกต่างกันไป ตามเปอร์เซนต์ของทองที่ผสมเข้าไป โดยยิ่งมีเปอร์เซนต์ของทองมากเท่าไหร่ จะมีสีเหลืองทองและคุณสมบัติที่ดีมากขึ้นเท่านั้น เช่นความแนบกับพื้นผิวฟัน โดยหลักๆ จะแบ่งประเภทของโลหะ ตาม เปอร์เซนต์ของทองที่เป็นส่วนผสม ได้ 4 ชนิด ได้แก่ 
        (1) โลหะธรรมดา (Regular alloy) :  ไม่มีทองเป็นส่วนผสม
        (2) พาลาเดียม (Palladium) : มีทองผสมประมาณ 2%
        (3) โลหะคุณภาพดีปานกลาง (Semi-precious) : มีทองผสมประมาณ 50%
        (4) โลหะคุณภาพสูง (High-precious) : มีทองผสมประมาณ 85%
  2. เซรามิกทั้งชิ้น (All ceramic)
              เป็นครอบฟันที่มีความสวยงามที่สุด เนื่องจากผลิตจากวัสดุเซรามิก ซึ่งมีความใส สวยงามเหมือนแก้ว จึงเหมาะกับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามมากๆ แต่มีข้อเสียคือมีความเปราะ แตกง่าย จึงต้องมีความหนาอย่างน้อย 2 มิลลิเมตร เพื่อให้แข็งแรงเพียงพอ ทำให้ต้องมีการกรอฟันมากกว่าแบบโลหะทั้งชิ้น
  3. เซรามิกรองพื้นด้วยโลหะ (PFM : Porcelain fused to metal)
              เป็นครอบฟันที่ผสมกันระหว่าง โลหะและเซรามิก เนื่องจากต้องการคุณสมบัติที่โดดเด่นจาก 2 วัสดุ โดยจะมีส่วนประกอบที่เป็นโลหะรองพื้น เพื่อเสริมความแข็งแรง ซึ่งสามารถเลือกเป็นโลหะชนิดใดก็ได้ใน 4 ชนิด (แบ่งตามเปอร์เซนต์ของทองที่เป็นส่วนผสม) และมีส่วนที่เป็นเซรามิกภายนอก เพื่อให้มีความสวยงามเหมือนสีฟัน อย่างไรก็ตาม พบว่าครอบฟันชนิดนี้ จะมีสีทึบกว่าแบบเซรามิกทั้งชิ้น เนื่องจากมีโลหะเคลือบอยู่ภายใน จึงมีความสวยงามและเป็นธรรมชาติน้อยกว่า และอาจพบสีของโลหะสะท้อนออกมาบริเวณขอบเหงือกด้วย 

กรณีใด ที่จำเป็นต้องปักเดือยและทำครอบฟัน ?

  • ฟันที่รักษารากฟันแล้วเนื้อฟันเหลือน้อย ทำให้ฟันไม่แข็งแรง และอาจแตกได้ในอนาคต ดังนั้นจึงต้องทำการบูรณะด้วยการ ปักเดือยและทำครอบฟันเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

รายละเอียดขั้นตอนในการปักเดือยและทำครอบฟัน

ปักเดือย
  1. ทำการรักษา 2-3 ครั้ง

  2. ฉีดยาชาเฉพาะตำแหน่งและใส่แผ่นยางกันน้ำลาย ในบางกรณี

  3. ทำการกรอเปิดและเจาะวัสดุอุดคลองรากฟันลงไปประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวรากฟัน

  4. ยึดเดือยฟันด้วยซีเมนต์ให้มีความยาวโผล่ขึ้นมาจากคลองรากฟันพอประมาณ

  5. ใช้วัสดุก่อแกนฟันเข้าไปในโพรงประสาทฟันให้เต็ม

  6. กรอแต่งฟันที่จะทำครอบฟันให้ซี่เล็กลง และอาจทำการแยกเหงือกด้วยด้ายแยกเหงือก

  7. ทำการพิมพ์ปาก, เลือกสีฟัน, ใส่ครอบฟันชั่วคราว และส่งแลปเพื่อทำชิ้นงาน

  8. หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จึงนัดมาเพื่อยึดครอบฟัน จะมีการเช็คการสบฟัน

  9. นัดเช็คครอบฟัน 1 สัปดาห์

ราคาปักเดือยและครอบฟัน

การปักเดือยและครอบฟันสามารถผ่อนชำระได้ 2-3 งวด 

  • ปักเดือยฟัน ราคา  3,500-5,000 บาท
  • ครอบฟันชั่วคราว เริ่มต้น ราคา 2,000 บาท
  • ครอบฟันโลหะทั้งชิ้น (Full metal) / เซรามิกรองพื้นด้วยโลหะ (PFM)
    – โลหะธรรมดา (Regular alloy) ราคา 10,000-11,000 บาท
    – พาลาเดียม (Palladium) ราคา 12,000-14,000 บาท
    – โลหะคุณภาพดีปานกลาง (Semi-precious) ราคา 15,000-17,000 บาท
    – โลหะคุณภาพสูง (High-precious) ราคา 18,000-20,000 บาท
  • ครอบฟันเซรามิกทั้งชิ้น (All caramic) ราคา 14,000-16,000 บาท

คลิปตัวอย่างการรักษารากฟัน ปักเดือยและทำครอบฟัน