วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ที่จัดฟัน

วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ที่จัดฟัน ทำอย่างไรบ้าง? คงเป็นคำถามสำหรับผู้ที่เพิ่งทำการติดเครื่องมือจัดฟัน หรือผู้ที่ทำการจัดฟันอยู่แล้วต้องการทราบ “คลินิกทันตกรรมสไมล์ลอฟท์” เป็นคลินิกที่จัดฟันโดยทีมทันตแพทย์เฉพาะทางมหิดล, อาจารย์แพทย์ มหิดลและปริญญาเอก ซึ่งทุกท่านมีรายชื่อเป็น สมาชิกสามัญของสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ทางคลินิกยังมีตัวอย่างของ เคสรีวิวจัดฟันมากมายจากคนไข้จริง และมี บทความทางทันตกรรมมากมาย จะมาตอบทุกคำถามของคุณแบบละเอียดยิบ 

ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการจัดฟัน

อาหารที่หลีกเลี่ยงในคนจัดฟัน
  1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียวและกรอบต่างๆ เช่น การเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท๊อฟฟี่ และหมากฝรั่ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการหลุดและเสียหายของเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความล่าช้าในการจัดฟัน
  2. การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กพอดีคำและเคี้ยวด้วยฟันกรามด้านหลัง และควรเลือกรับประทานอาหารนิ่มๆและอ่อนๆ
  3. ในระยะแรกของการจัดฟันมักจะเจ็บฟันและอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการจะค่อยๆทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 2 การลดการระคายเคืองทำได้โดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์มาปั้นเป็นก้อนๆ ปิดทับบริเวณเครื่องมือที่แหลมคม การดื่มน้ำให้มากจะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  4. ถ้ามีลวดเส้นเล็กๆ งอมาแทงริมฝีปากหรือแก้ม ให้ใช้ของไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์ กดปลายลวดเข้าไป หากไม่สามารถกดปลายลวดเข้าไปได้ ให้ปิดทับปลายลวดด้วยขี้ผึ้งหรือสำลีก้อนเล็กๆ แล้วรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขและปรับแต่งลวดใหม่บริเวณนั้น
  5. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อลดการเกิดฟันผุในระหว่างจัดฟัน
  6. ในระหว่างการจัดฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟันและตรวจฟันผุทุกๆ 6 เดือน

วิธีการแปรงฟันเมื่อจัดฟัน

ขอขอบคุณ : ภาพสวยๆ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา

เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น จะเป็นที่สำหรับกักเก็บคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารได้ง่าย ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบ ฉะนั้น การแปรงฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้จัดฟันโดยควรแปรงฟันในช่วงเช้า หลังมื้ออาหารทุกมื้อและก่อนนอน ควรใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูโอไรด์ด้วยเพื่อป้องกันฟันผุ

  1. วางขนแปรงที่บริเวณคอฟัน ให้ขนแปรงเข้าร่องบริเวณขอบเหงือกและทำมุม 45 องศา กับแนวแกนฟัน ขยับขนแปรงและหมุนไปมาในช่วงสั้นๆ 6-7 ครั้งและปัดขนแปรงลงไปยังปลายฟัน ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่
  2. วางขนแปรงบนเครื่องมือจัดฟันรอบๆแบร็กเก็ต ขยับและหมุนขนแปรงไปมาในช่วงสั้นๆ อย่างน้อย 10 ครั้ง ทำเช่นเดียวกันนี้ที่บริเวณด้านบน ตรงกลางและด้านล่างแบร็กเก็ตและทุกบริเวณที่มีเครื่องมือจัดฟัน
  3. วางขนแปรงที่บริเวณคอฟันทางด้านใน (ด้านลิ้น) ให้ขนแปรงเข้าร่องบริเวณขอบเหงือกและทำมุม 45 องศา กับแนวแกนฟัน ขยับขนแปรงและหมุนไปมาในช่วงสั้นๆ 6-7 ครั้ง แล้วปัดขนแปรงไปยังปลายฟัน ในฟันหน้าล่างให้ใช้วิธีหมุนวนบริเวณขอบเหงือก
  4. แปรงฟันด้านบดเคี้ยว ในฟันหลังทุกซี่ เพื่อทำความสะอาดบริเวณหลุมร่องฟันด้านบดเคี้ยว
  5. ปิดท้ายด้วยการแปรงลิ้นเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่สะสมและเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก โดยเฉพาะบริเวณโคนลิ้นด้านใน

การทำความสะอาดซอกฟันเมื่อจัดฟัน

เนื่องจากการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณซอกฟันได้อย่างทั่วถึง จึงควรใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) ช่วยทำความสะอาดด้วย แต่ในผู้ที่จัดฟันการใช้ไหมจัดฟันทั่วไป อาจจะยากเนื่องจากติดขัดอุปกรณ์จัดฟัน บางกรณีอาจใช้ห่วงร้อยไหม (Floss threaders) หรือ ไหมขัดฟันชนิดพิเศษ (Superfloss) ซึ่งช่วยให้ร้อยไหมขัดฟันเข้าใต้เครื่องมือจัดฟันได้ง่ายขึ้น และทำความสะอาดได้ดีขึ้น

การทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมเมื่อจัดฟัน

แปรงซอกฟัน (Proxabrxsh)

แปรงซอกฟันมีลักษณะเหมือนกับแปรงล้างขวด มีหลายขนาดขึ้นกับความกว้างของซอกฟัน โดยแปรงซอกฟันจะสามารถเข้าไปทำความสะอาดซอกฟันและบริเวณใต้ลวดจัดฟันได้ วิธีใช้ คือ สอดหัวแปรงเข้าใต้เส้นลวดระหว่างซอกฟันและหมุนเบาๆ พยายามทำความสะอาดให้ครบทุกซอกฟัน กรณีถ้ามีหมุดจัดฟัน (Mini screw) สามารถใช้แปรงซอกฟันแปรงเบาๆรอบๆ บริเวณหมุดจัดฟัน เพื่อป้องกันเหงือกรอบๆอักเสบและบวมได้

แปรงกระจุกเดียว (End-tuft brush)

แปรงกระจุกเดียวเป็นแปรงที่ใช้ในผู้ที่มีฟันซ้อนเก ล้มเอียง ด้านในของฟันล่างและใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน โดยวิธีใช้ คือ กวาดขนแปรงไปตามคอฟัน โดยใช้หลังจากการแปรงฟัน เมื่อถึงซอกฟันจึงขยับขนแปรงอยู่กับที่แล้วปัดไปด้านบดเคี้ยว ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ที่ต้องการ

end tufted brush

การปฏิบัติตัวกรณีฉุกเฉินในผู้ที่จัดฟัน

การปฏิบัติตัวฉุกเฉินในคนจัดฟัน

ในระหว่างที่ไม่ได้มาพบทันตแพทย์จัดฟัน และเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. กรณี แบรคเก็ตหลุด

  • ถ้าเป็นแบรคเก็ตซี่สุดท้ายหลุด สามารถเอาออกก่อนได้ โดยดึงออกจากทางปลายลวดด้านหลัง หากพบว่าลวดยาวทิ่ม ให้ใช้ขี้ผึ้งหรือสำลีปั้นเป็นก้อน แปะตรงบริเวณปลายลวดที่คม
  • ถ้าเป็นแบรคเก็ตบริเวณอื่นๆหลุดแต่ยังยึดติดกับลวด ไม่สามารถเอาออกมาได้ ให้คงสภาพนั้นเอาไว้พยายามจัดตำแหน่งให้แบรคเก็ตแนบกับผิวฟันที่สุด ถ้ารำคาญหรือระคายเคือง สามารถใช้ขี้ผึ้งแปะทับเพื่อช่วยในการยึดติดได้

2. กรณีลวดหลุดหรืองอ จากเครื่องมือที่ฟันซี่สุดท้าย

  • ถ้าไม่ระคายเคืองสามารถปล่อยทิ้งไว้ก่อนได้
  • กรณีลวดงอ สามารถกดลวดเข้าไปในตำแหน่งเดิมได้ โดยใช้นิ้วหรือสำลีก้อน
  • กรณีระคายเคือง ถ้าเป็นลวดอ่อนเส้นเล็กๆ สามารถใช้แหนบเช็ดแอลกอฮอล์ คีบปลายลวดใส่กลับเข้าไปในท่อ (Tube) ที่เดิม หรือหลบปลายลวดไว้ใต้เครื่องมือในตำแหน่งที่ไม่ระคายเคือง
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้คีมตัดลวดเล็กๆ หรือกรรไกรตัดเล็บเช็ดแอลกอฮอล์ตัดปลายลวดได้

3. กรณีลวดเล็กๆด้านใน ที่มัดระหว่างซี่ฟันขาดและทิ่มระคายเคืองเนื้อเยื่ออ่อน

  • ใช้วัสดุที่ไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์กดปลายลวดให้แนบหลบเข้าไป
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้คีมตัดลวดเล็กๆ หรือกรรไกรตัดเล็บเช็ดแอลกอฮอล์ตัดปลายตรงตำแหน่งที่คมได้

4. กรณีปลายลวดยาว ทิ่มตำเนื้อเยื่ออ่อนเป็นแผล

  • ใช้ขี้ผึ้งหรือสำลีปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แปะตรงบริเวณที่คม
  • ใช้วัสดุที่ไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์กดปลายลวดเข้าไป
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้คีมตัดลวดเล็กๆ หรือกรรไกรตัดเล็บเช็ดแอลกอฮอล์ตัดปลายลวดได้

5. กรณียางโอริง หรือเชนที่ดึงฟันหลุด

  • ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวด หรือลวดหลุดออกมา สามารถปล่อยไว้สภาพนั้นก่อนได้
  • กรณีลวดหลุดออกมาบางส่วนและเกิดการระคายเคือง ให้ใช้ขี้ผึ้งหรือสำลีปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แปะตรงบริเวณที่คม หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้คีมตัดลวดเล็กๆ หรือกรรไกรตัดเล็บเช็ดแอลกอฮอล์ตัดปลายลวดได้

6. กรณีเหงือกบวม มีกลิ่น, อาการปวดและมีเลือดออก

  • มักจะเกิดจากการทำความสะอาด หรือกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามอุปกรณ์จัดฟันได้ไม่ดีพอ แนะนำเน้นทำความสะอาดบริเวณที่มีปัญหาทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะบริเวณ ‘ขอบเหงือกและซอกฟัน’ รวมถึงบริเวณ ‘เหงือกที่อยู่ด้านใต้เชนดึงฟัน’ อาจต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น แปรงซอกฟัน, ไหมขัดฟัน, Superfloss

7. การปฏิบัติตัวอื่นๆ

  • การปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง กรอบ หรือเหนียว เช่น การเคี้ยวน้ำแข็ง ถั่ว หมากฝรั่ง ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์จัดฟัน
  • การรับประทานผักและผลไม้ ควรตัดแบ่งให้เป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำและเคี้ยวด้วยฟันกรามด้านหลัง
  • ที่สำคัญคือการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด โดยการแปรงฟันหลังการรับประทานอาหารทุกครั้ง และใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันด้วยนะคะ

ผลเสียจากการดูแลสุขภาพฟันไม่ดีในผู้ที่จัดฟัน

  • ฟันเคลื่อนช้า ทำให้การจัดฟันใช้เวลานานมากขึ้น จากคราบหินปูนที่เกิดขึ้น ดังนั้นทันตแพทย์จึงแนะนำให้ขูดหินปูนทุก 6 เดือน
  • ฟันผุ (Dental caries)
  • เกิดรอยด่างที่ผิวฟันรอบๆ แบร็คเกต (Decalicified enamel)
  • เหงือกอักเสบ (Gum inflammation) : เหงือกบวมแดง
  • เหงือกร่น (Gum recession)
  • เกิดช่องว่างสามเหลี่ยมระหว่างฟัน บริเวณร่องฟัน (Black triangle)
  • โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontal disease)

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*